สัปดาห์ที่4เรื่องที่ 1
ลักษณะทั่วไปและความสำคัญของธุรกิจ
ธุรกิจมีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันและมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการเป็นพื้นฐาน
และเพื่อขวานขวายให้ได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ
สำหรับมาบำบัดความต้องการของตนเองและครอบครัว จึงก่อให้เกิดกิจกรรม (Activities)
ประเภทต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นธุรกิจขึ้น
ธุรกิจจึงเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งเพื่อจะบำบัดหรือสนองความต้องการของมวลมนุษย์
นั่นเอง
ธุรกิจเป็นพลังผลักดันที่ครอบคลุมไปทั่วสังคมของมนุษย์ เป็นที่ก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงาน เป็นแหล่งที่ใช้ทรัพยากรมากที่สุด เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดรายได้และภาษีอากร ซึ่งแต่ละปัจจัยดังกล่าวนี้มีอิทธิพลที่จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและ สังคม ความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับความสามารถและความชำนาญของมนุษย์ตลอดจน สุขภาพและความคิดอ่าน เพราะพลังคนเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบการ อย่างไรก็ตามธุรกิจต่าง ๆ นั้นมิได้ตั้งขึ้นแต่เพียงเพื่อแสวงหากำไรเท่านั้น หากยังได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยการจัดให้มีสินค้าและบริการสนองตอบความ ต้องการของสังคมด้วย ความหมายของธุรกิจและการประกอบ ธุรกิจ คำว่า "ธุรกิจ" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Business" ซึ่งมาจากคำว่า Busy ที่แปลว่า ยุ่ง, วุ่น, มีงานมาก, มีธุระยุ่ง ดังนั้นธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิด ต้องแก้ปัญหา และต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ความจริงคำว่า ธุรกิจ นี้เป็นคำกลาง ๆ ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องของเอกชนหรือของรัฐบาล และกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทำกันโดยทั่ว ๆ ไปนั้นก็ถือว่าเป็นธุรกิจ เพียงแต่เวลาที่เราพูดถึงธุรกิจเรามักจะรับรู้ว่าเป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของการมุ่งหวังกำไร เพราะฉะนั้นความหมายที่รับรู้กัน ณ วันนี้ก็คือว่า ธุรกิจเป็นเรื่องของกิจการที่เข้ามารับความเสี่ยง ความหมายของธุรกิจ (Business) หมายถึง กิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งมีความเกี่ยวพันในวงการของสถาบัน เพื่อที่จะจำหน่ายและให้บริการภายใต้กฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมีความสัมพันธ์กับบริการอื่นและกลุ่มผู้ทำงานร่วมมือให้บรรลุถึงจุดหมาย อันเดียวกัน คือ ความสำเร็จของหน่วยงาน การประกอบธุรกิจ หมายถึง การผลิตสินค้าและบริการ และการนำสินค้าและบริการนั้นมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ฉะนั้นถ้าการผลิตสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้ถูกนำมาใช้บริโภคเอง ไม่ได้นำไปขายหรือจำหน่ายจึงเรียกว่า การอุปโภคบริโภค (Consumption) ของตนเอง แต่ถ้าการผลิตสินค้าและบริการได้ถูกนำไปขายหรือจำหน่ายต่อไปจึงเรียกว่า การค้า (Commerces) / การประกอบธุรกิจ (Business Activities) สรุปก็คือว่า ธุรกิจ เป็นกระบวนการดำเนินกิจกรรมทางด้านการผลิต การจำหน่าย และการให้บริการนั่นเอง จุดมุ่งหมายของการประกอบธุรกิจ (Business Goals) ผู้ประกอบธุรกิจแทบทุกประเภทมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอย่างเดียวกัน คือ ต้องการกำไร แต่ธุรกิจไม่ควรมุ่งกำไรสูงสุด เพราะธุรกิจควรมีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบางอย่างที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่มุ่งหวังผลกำไร เช่น กิจการไฟฟ้า ประปา การเดินรถประจำทาง โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เป็นต้น สรุป บรรดาผู้ประกอบธุรกิจมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญพอจะแยกได้ 2 ประการ คือ 1. มุ่งหวังกำไร (Profit Earning) ได้แก่ ธุรกิจของเอกชนทั่วไป 2. ไม่ได้มุ่งหวังกำไร (Social Prestige) ได้แก่ ธุรกิจประเภทสาธารณูปโภค (Public Utilities) และสาธารณูปการ (Public Services) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นของรัฐบาล ข้อสังเกต ในการดำเนินธุรกิจนั้น ผลต่างระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมด คือ กำไรหรือขาดทุนของธุรกิจนั่นเอง บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ธุรกิจ บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลัก ๆ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจ (Key Participants) นั้น อาจจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ 1. ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) คือ ผู้ที่ยอมทุ่มเทเวลา ความพยายาม และเงินทุน เพื่อเริ่มและดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหวังผลกำไรที่เกิดจากธุรกิจ เป็นผลประโยชน์ตอบแทนความเสี่ยงในการลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งบางครั้งธุรกิจนอกจากจะไม่มีกำไรเป็นค่าตอบแทนความเสี่ยงแล้ว ยังอาจประสบกับภาวะขาดทุนด้วยก็ได้ ข้อสังเกต ผลตอบแทนความเสี่ยง (Risk) จากการลงทุนทำธุรกิจประเภทต่าง ๆ นั้น จะเป็นไปตามหลักการที่ว่า High Risk, High Returns กล่าวคือ ถ้ามีระดับความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็มักต่ำ ถ้ามีระดับความเสี่ยงสูงผลตอบแทนก็มักจะสูง เช่น การซื้อล็อตเตอรี่มักจะมีความเสี่ยงสูง เพราะโอกาสที่จะถูกรางวัลมีน้อยมาก แต่ว่าถ้าถูกรางวัลใหญ่ ๆ แล้วผลตอบแทนจะสูงมาก เป็นต้น 2. ผู้ให้สินเชื่อ (Creditors) คือ ผู้ที่ให้เงินแก่ผู้ประกอบการกู้ยืมไปลงทุน โดยต้องการ ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยและการส่งคืนเงินต้นจากกิจการ ซึ่งผู้ให้สินเชื่ออาจจะเป็นบุคคลหรือสถาบันการเงินก็ได้ 3. พนักงานภายในองค์การธุรกิจ (Employees) คือ พนักงานทุกระดับนับตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการ (คนงาน) หัวหน้างาน ผู้จัดการ จนกระทั่งถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท (Chief Executive Officer : CEO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจและมีบทบาทมากในการสั่งการทุก ๆ อย่างภายในองค์การธุรกิจ ข้อสังเกต โดยทั่วไป CEO มักจะเป็นประธานของบริษัท มีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและการวางแผนกลยุทธ์ภายในบริษัท 4. ลูกค้าของกิจการ (Customers) คือ บุคคลทั่วไปที่ให้การสนับสนุนกิจการโดยการซื้อ สินค้าและบริการ กิจการทุกกิจการจะอยู่ไม่ได้เลยหากไม่มีลูกค้า ดังนั้นลูกค้าจึงเปรียบเหมือนหัวใจที่สำคัญที่สุดของกิจการ บางครั้งถึงขนาดมีการกล่าวกันว่า "ลูกค้าเปรียบเหมือนพระราชา" (Customers is the King) หมายความว่า เวลากิจการจะทำอะไรต้องยึดความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษา วิชาธุรกิจ พอสรุปได้ว่า เมื่อได้ศึกษาและมีความรู้ทางธุรกิจแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน คือ 1. เป็นผู้บริโภคและผู้ลงทุนที่ดี คือ การศึกษาถึงระบบธุรกิจจะทำให้ผู้ที่เป็นลูกค้าและผู้ลงทุนได้รับข้อมูลมาก ขึ้น เป็นผลให้เขาเหล่านั้นมีความฉลาดรอบรู้ที่จะตัดสินใจซื้อหรือจ่ายเงินเพื่อ ลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม 2. เป็นลูกจ้างที่ดีขึ้น คือ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาธุรกิจจะช่วยให้เลือกอาชีพที่ถูกใจได้ดีขึ้น 3. ประโยชน์อื่น ๆ เช่น การได้รู้ซึ้งถึงสภาพอันแท้จริงของธุรกิจ ช่วยในการเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเอง และช่วยในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น สาขาวิชาที่เกี่ยว ข้องกับธุรกิจ การประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความรู้ทางด้านต่าง ๆ ดังนี้ คือ 1. ด้านบัญชี (Accounting) 2. ด้านเศรษฐศาสตร์ (Economics) 3. ด้านสังคม (Sociology) 4. ด้านจิตวิทยา (Psychology) 5. ด้านการเมือง (Politic) 6. ด้านสถิติ (Statistic) 7. ด้านกฎหมายธุรกิจ (Business Law) 8. ด้านภาษาธุรกิจ (Business Knowledge) เศรษฐกิจในรูปของธุรกิจเอกชน เมื่อพูดถึงระบบเศรษฐกิจในรูปของธุรกิจเอกชน มีหลักสำคัญที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการ คือ 1. การเป็นเจ้าของในทรัพยากรการผลิต 2. ความมีโอกาสอย่างเสรีที่จะเลือกได้ตามความพอใจ เนื่องจากการเป็นเจ้าของส่วนตัวในทรัพยากรการผลิต บางครั้งจึงเรียกระบบนี้ว่า ระบบทุนนิยม (Capitalism) หรืออาจเรียกว่า ระบบการประกอบกิจการเสรี (Free - Enterprise) เพราะประชาชนสามารถเลือกได้ว่าอะไรที่ตนจะทำ แต่ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว เอกชนและผู้ประกอบการในระบบนี้ไม่ได้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ต่อการที่จะเลือก ได้เองตามความพอใจ ดังนั้นจึงน่าจะใช้คำว่าการประกอบกิจการส่วนตัว (Private Enterprise) เหมาะสมกว่าที่จะใช้คำว่า ทุนนิยม หรือการประกอบกิจการเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) เช่น ประเทศไทย เป็นต้น สิทธิขั้นพื้นฐานของระบบธุรกิจ เอกชน คือ 1. สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ (Right to Property Ownership) 2. สิทธิในการได้มาซึ่งผลกำไร หรือแรงกระตุ้นกำไร (Profit Incentive) 3. สิทธิในการแข่งขันซึ่งกันและกัน หรือโอกาสในการแข่งขัน (Opportunity to Compete) 4. สิทธิในการมีเสรีภาพในการเลือกและการตกลงทำสัญญา (Freedom of Choice and Contract) ปัจจัยในการผลิต (Factor of Production) กระบวนการบริหารงานที่ถือว่าเป็นหลักสากลนั้น จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ปัจจัยนำเข้า (Inputs) , กระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (Outputs) สำหรับการผลิตก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้โดยการผลิต (Production) หมายถึง กระบวนการ (Process) ในการแปลงสภาพวัตถุดิบ (Inputs) ซึ่งก็คือทรัพยากรให้เป็นผลผลิต (Outputs) คือ สินค้าหรือบริการตามความต้องการของผู้บริโภค ปัจจัยในการผลิต ประกอบ ด้วย 1. ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) ได้แก่ ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ และพลังงานต่าง ๆ 2. แรงงาน (Labor) หมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ แรงงานฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ 3. ทุน (Capital) หมายถึง โรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร และเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน 4. ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) หรือการประกอบการ หมายถึง ความเต็มใจที่จะเสี่ยง รวมทั้งความรู้และความสามารถที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ สรุป ปัจจัยในการผลิตที่สำคัญก็คือ คน (Man) , เงิน (Money) , วัตถุดิบ (Material) , เครื่องจักร (Machine) และข้อมูลข่าวสาร (Information) ต่าง ๆ นั่นเอง ชนิดของระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจ (Economic System) หมายถึง กลุ่มชนที่รวมกันเป็นกลุ่มสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) ที่มีแนวปฏิบัติคล้าย ๆ กันมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อบำบัดความต้องการของผู้บริโภค ในการศึกษาระบบเศรษฐกิจต้องอาศัยวิชาเศรษฐศาสตร์เข้าช่วย เศรษฐศาสตร์ (Economics) หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความพอใจในความต้องการของมนุษย์ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำถามพื้นฐาน 4 ประการ ที่ใช้ในการพิจารณาระบบเศรษฐกิจของประเทศ คือ 1. จะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร 2. ผลิตอย่างไร 3. ผลิตเพื่อใคร 4. ใครเป็นเจ้าของและควบคุมปัจจัยหลักของการผลิต ระบบเศรษฐกิจจะทำหน้าที่ตอบคำถาม พื้นฐานทั้ง 4 ประการ และจะเป็นตัวที่กำหนดการดำเนินการทาง เศรษฐกิจของสังคม โดยในปัจจุบันเราแบ่งระบบเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระบบ คือ 1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) 2. ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน ซึ่งประกอบด้วย ระบบสังคมนิยม (Socialism) และระบบคอมมิวนิสต์ (Communism) 3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) ระบบทุนนิยม (Capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้เอกชนมีเสรีภาพในการดำเนินการทาง เศรษฐกิจว่าจะผลิตอะไร ผลิตเท่าใด ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร โดยเอกชนจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมทั้งมีกรรมสิทธิ์ในสินค้าและบริการที่ผลิตได้ ระบบนี้รัฐบาลจะไม่เข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวหรือควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถ้ามีก็มีน้อยที่สุด รัฐจะไม่แข่งขันกับเอกชน แต่เป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น ทั้งนี้กลไกของตลาดจะเป็นตัวกำหนดของราคา กำไรเป็นสิ่งจูงใจสำคัญ นอกจากนี้สิ่งจูงใจที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การแข่งขันระหว่างกันอย่างเสรีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคนั่นเอง ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน เป็นระบบที่มีการวางแผนมาจากรัฐบาลกลาง ประกอบด้วย 1. ระบบสังคมนิยม (Socialism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่จำกัดเสรีภาพของเอกชน โดยรัฐบาลจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการผลิตขนาดใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการควบคุมการผลิตในกิจการที่สำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ โดยพยายามที่จะจัดสรรรายได้ให้เท่าเทียมกันมากที่สุด ภายใต้ระบบนี้เอกชนอาจจะมีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ๆ ได้ แต่รัฐจะเข้าไปควบคุมแทรกแซง และเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าหรือบริการเอง 2. ระบบคอมมิวนิสต์ (Communism) เป็น ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรทางเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าและบริการเป็นของประชาชนทั้ง มวล ในปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์จริง ๆ นั้นไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว จะมีก็แต่ระบบสังคมนิยมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดเท่านั้น คือ ยอมให้ทำการค้าเสรีได้บ้าง เป็นต้น จุดอ่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน คือ ภาคเอกชนขาดเสรีภาพในการผลิตและการบริโภค ทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจทุกอย่างต้องเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล นั่นเอง ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมกันระหว่างแบบทุนนิยมกับสังคมนิยม คือ รัฐจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และการผลิตขั้นพื้นฐานหรือโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แต่เอกชนก็เป็นเจ้าของได้เช่นกัน ทั้งนี้รัฐอาจจะเข้าแทรกแซงกลไกทางการตลาดได้บ้างในบางกรณี เช่น เพื่อสวัสดิการของประชาชน เป็นต้น การวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ความสามารถในการผลิต (Productivity) หมายถึง ระดับเฉลี่ยของผลผลิตต่อคนงานต่อชั่วโมง เป็นการวัดประสิทธิภาพของการผลิตสำหรับระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบ การเพิ่มขึ้นของความสามารถในการผลิตเป็นผลจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้แรงงานสามารถผลิตสินค้าและบริการได้จำนวนมากขึ้น การวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจแห่งชาติของแต่ละประเทศ ทำได้โดยใช้ผลิตภัณฑ์ ประชาชาติเบื้องต้น (Gross National Product หรือ GNP) ซึ่งหมายถึง มูลค่ารวมของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตโดยประชาชนประเทศนั้นในงวดเวลา ที่กำหนด (ปกติภายในระยะเวลา 1 ปี) และการที่จะวัดรายได้ประชาชาติ (GNP) ของประเทศใดสมควรใช้ GNP ต่อคน (GNP per Capita) จึงจะทราบถึงความเจริญเติบโตที่แท้จริง นักเศรษฐศาสตร์อาจนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติในประเทศเบื้องต้น (Gross Domestic Product หรือ GDP) ซึ่งหมายถึง มูลค่ารวมของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศในระยะ เวลา 1 ปี มาเป็นเครื่องวัดผลการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ คำนิยามของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP นี้จะคล้ายกับ GNP มาก แต่มีข้อแตกต่างคือ GDP จะไม่รวมรายได้สุทธิจากต่างประเทศ ชนิดของการแข่งขัน ระบบตลาดเสรี (Free - Market System) แสดงให้เห็นการแข่งขันระหว่างผู้ขายสินค้าและทรัพยากร นักเศรษฐศาสตร์แบ่งการแข่งขันในตลาดออกเป็น 4 ตลาด คือ 1. ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Pure Competition) เป็นสถานการณ์ทางตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า ชนิดเดียวกันหลายราย แต่ไม่มีใครมีอิทธิพลมากพอที่จะควบคุมราคาสินค้านั้นได้ เพราะสินค้ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ การเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดของผู้ผลิตเป็นไปโดยง่าย ตลอดจนผู้ซื้อและผู้ขายมีความรู้เกี่ยวกับตลาดเป็นอย่างดี ความจริงแล้วตลาดชนิดนี้ไม่มีอยู่จริงในโลก และถือเป็นเพียงตลาดในอุดมคติ (Ideal Market) เท่านั้น 2. ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) เป็นตลาดที่มีสภาพใกล้เคียงกับความ เป็นจริงในปัจจุบันมากที่สุด คือ เป็นระบบตลาดที่มีผู้ขายจำนวนมาก โดยขายผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน ทั้งนี้ในการเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดในระยะยาวจะค่อนข้างง่าย เช่น ระบบตลาดของไทย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น 3. ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) เป็นตลาดที่มีผู้ขายตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยทั่วไปเป็นผู้ขายรายใหญ่ ทั้งจำนวนเงินลงทุนและขนาดของกิจการ โดยอาจจะขายผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ เช่น ตลาดน้ำอัดลมของไทย เป็นต้น 4. ตลาดผูกขาด (Monopoly) คือ ตลาด (หรืออุตสาหกรรม) ที่มีผู้ขายเพียงรายเดียว โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดทดแทนได้ เช่น การผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบ การผลิตไฟฟ้า ประปา เป็นต้น หน้าที่องค์การธุรกิจ (Business Function) หน้าที่ขององค์การธุรกิจที่สำคัญ มีดังนี้ 1. องค์การและการจัดการ (Organization and Management : O & M) องค์การ (Organization) เป็นระบบการจัดการที่ออกแบบและดำเนินงานให้บรรลุวัตถุ-ประสงค์เฉพาะอย่าง หรือหมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทำงานร่วมกัน และประสานงานกัน เพื่อให้ผลลัพธ์ของกลุ่มประสบความสำเร็จ การจัดการ (Management) เป็นกระบวนการเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ โดยใช้การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organization) การชักนำ (Leading) และการควบคุม (Controlling) มนุษย์ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ การเงิน ทรัพยากรข้อมูลขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 2. การผลิตและการปฏิบัติการ (Production and Operations) เป็น กิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการ โดยผ่านกระบวนการแปรสภาพ (Conversion Process) จากปัจจัยนำเข้า (Input) เพื่อให้ออกมาเป็นปัจจัยนำออก (Output) เพื่อให้มีความสม่ำเสมอในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับการออกแบบทางวิศวกรรม โดยก่อให้เกิดผลเสียต่ำสุดและเกิดผลผลิตสูงสุดตลอดจนมีความรวดเร็วต่อการ ปรับเข้าหาความต้องการซื้อของลูกค้าได ้ 3. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Management : HRM) เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ของธุรกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ขององค์การและเป้าหมายเฉพาะบุคคล 4. การตลาด (Marketing) เป็นกระบวนการวางแผนและการบริหารแนวความคิดเกี่ยวกับการตั้งราคา การส่งเสริมการตลาด การจัดจำหน่ายสินค้า บริการหรือความคิดเพื่อสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของบุคคลและบรรลุเป้าหมายขององค์การ 5. การบัญชี (Accounting) เป็นขั้นตอนของระบบการรวบรวม การวิเคราะห์และการรายงานหรือสรุปข้อมูลทางการเงิน หรือเป็นการออกแบบระบบการบันทึกรายการ การจัดทำรายงานทางการเงิน โดยใช้ ข้อมูลที่บันทึกไว้และแปลความหมายของรายการนั้น 6. การเงิน (Finance) เป็นการใช้กลยุทธ์ทางการเงิน เพื่อความอยู่รอด ความเจริญเติบโต และความคล่องตัวทางด้านการเงิน เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดและความมั่งคั่งสูงสุด หรือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินทุน และการใช้เงินทุนด้วยวิธีการที่ทำให้เกิดมูลค่าของธุรกิจสูง 7. ระบบสารสนเทศ (Information System : IS) หรือ ระบบสารสนเทศของกิจการ (Management Information System : MIS) เป็นระบบของกระบวนการข้อมูลที่ออกแบบเพื่อรวบรวม เก็บรักษา แยกแยะ และนำกลับมาใช้เพื่อสนับสนุนการวางแผน การตัดสินใจ การประสานงาน และการควบคุม วงจรธุรกิจ (Business Life Cycle) วงจรธุรกิจมีลำดับขั้นตอน 4 ขั้น ดังนี้ 1. ขั้นเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) เป็นขั้นตอนที่นักลงทุนนิยมลงทุนมากที่สุด เพราะเป็นขั้นที่ธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว 2. ขั้นถดถอย (Recession) เป็นขั้นที่การลงทุนโดยทั่วไปจะลดลง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากธุรกิจมีการขยายตัวเต็มที่แล้ว 3. ขั้นตกต่ำ (Depression) เป็นขั้นที่ธุรกิจจำเป็นต้องลดการผลิตและลดการลงทุน เนื่องจากสินค้าขายไม่ออกและมีราคาต่ำจนผู้ผลิตขาดทุน 4. ขั้นฟื้นตัว (Recovery) เป็นขั้นที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่ขั้นเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ข้อสังเกต การดำเนินการทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน ควรมุ่งเน้นในเรื่อง Feasible Profit คือ การทำกำไรเท่าที่สามารถจะทำได้หรือเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำและถดถอยในยุคปัจจุบันนั้น การประคองตัวให้ธุรกิจอยู่รอดก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เ Four Tigers (4 เสือเศรษฐกิจของเอเชีย) หมายถึง 4 ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrial Countries : NIC) ซึ่งได้แก่ เกาหลีใต้ (South Korea) , ไต้หวัน (Taiwan) , ฮ่องกง (Hong Kong) และสิงคโปร์ (Singapore) |
วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556
ธุรกิจเบื้องต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น