อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อ พ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา"ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่)
ดอยอ่างกา มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากยอดดอยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร มีหนองน้ำแห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่าง ฝูงกาจำนวนมากมายมักพากันไปเล่นน้ำที่หนองน้ำแห่งนี้ จึงพากันเรียกว่า "อ่างกา" และภูเขาขนาดใหญ่แห่งนั้นก็เลยเรียกกันว่า "ดอยอ่างกา"แต่ก็มีบางกระแสกล่าวว่า คำว่า "อ่างกา" นั้น แท้จริงแล้วมาจากภาษาปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) แปลว่า "ใหญ่" เพราะฉะนั้นคำว่า "ดอยอ่างกา" จึงแปลว่าดอยที่มีความใหญ่นั่นเอง
ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์"
แต่มีข้อมูลบางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์"
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มีพื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยสำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6 ดังนี้
"เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดมีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยประกาศพระราชกฤษฎีกาด้วยบริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า อุทยานแห่งชาติ"
ที่ตั้ง
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่อยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม กิ่งอำเภอดอยหล่อ และอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในระว่างเส้นรุ้งที่ 18 องศา 24 ลิปดา ถึง 18 องศา 40 ลิปดา หรือ และแส้นแวงที่ 98 องศา 24 ลิปดา ถึง 98 องศา 42 ลิปดา ตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 301,500 ไร่ หรือประมาณ 482.1 ตารางกิโลเมตร สามารถเข้าถึงได้โดยใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ไปยังอำเภอจอมทอง 50 กม. ระยะทางประมาณ 50 กม. เลี้ยวขวาตามถนนสาย จอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ประมาณ 8 กม. ก็จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติที่บริเวณน้ำตกแม่กลาง และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กม. ที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ จะอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง โดยมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ อยู่ในเขตตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม และตำบลแม่วิน ตำบลทุ่งปี้ อำเภอแม่วาง
- ทิศใต้ อยู่ในเขตตำบลบ้านหลวง และตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง
- ทิศตะวันออก อยู่ในเขตตำบลสองแคว ตำบลยางคราม และตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
- ทิศตะวันตก อยู่ในเขตตำบลแม่นาจร ตำบลช่างเคิ่ง และตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม
สำหรับอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จะครอบคลุมพื้นที่ตามแนวเขตการปกครอง 3 อำเภอ และ 9 ตำบล 30 หมู่บ้าน ในจังหวัดเชียงใหม่ดังต่อไปนี้
- อำเภอจอมทอง ตำบลสองแคว ตำบลยางคราม ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี๊ยะ
- อำเภอแม่แจ่ม ตำบลแม่นาจร ตำบลช่างเคิ่ง ตำบลท่าผา
- อำเภอแม่วาง ตำบลแม่วิน ตำบลทุ่งปี้
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ 50160 โทรศัพท์ : 0 5326 8550 โทรสาร : 0 5326 8577
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ทอดตัวมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงสุดในประเทศไทย ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมา คือ ยอดดอยหัวหมดหลวง สูง 2,330 เมตร ยอดดอยหัวหมดน้อย สูง 1,900 เมตร ยอดดอยหัวเสือ สูง1,881 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์โดยทั่วไป ประกอบด้วยหินที่มีอายุตั้งแต่ยุคแคมเบรียนขึ้นไป และหินส่วนใหญ่จะเป็นหินไนส์และหินแกรนิต ส่วนหินชนิดอื่นๆ ที่พบจะเป็นหินยุคออร์โดวิเชียนซึ่งได้แก่หินปูน จนถึงยุคเทอร์เซียรี่ได้แก่หินกรวดมน
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิง ให้กำเนิดแม่น้ำลำธารหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำแม่วาง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่ยะ ลำน้ำแม่หอย ลำน้ำแม่แจ่ม และลำน้ำแม่เตี๊ยะ ซึ่งลำน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอแม่วาง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความหลากหลายทางด้านระดับความสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยจะมีลักษณะของสภาพอากาศแบบเขตร้อน ในตอนล่างของพื้นที่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลต่ำกว่า 1,000 เมตรลงมา มีสภาพอากาศแบบกึ่งเขตร้อนในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และมีสภาพอากาศแบบเขตอบอุ่นในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลกว่า 2,000 เมตรขึ้นไป
ในพื้นที่สูงตอนบนของอุทยานแห่งชาติ โดยทั่วไปแล้วจะมีสภาพที่ชุ่มชื้นและหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณยอดดอยอินทนนท์ซึ่งมีลักษณะเป็นสันเขาและยอดเขา จะมีกระแสลมที่พัดแรงและมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และในช่วงวันที่หนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิจะลดต่ำลงถึง 0-4 องศาเซลเซียส และจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้น ที่ระดับกลางของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สภาพอากาศโดยทั่วไปจะมีลักษณะค่อนข้างเย็นและชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวในเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000-2,100 มิลลิเมตร/ต่อปี สำหรับในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,800 เมตรขึ้นไป จะมีสภาพอากาศที่เย็นและชุ่มฉ่ำอยู่ ทั้งนี้เพราะจะเป็นระดับความสูงของเมฆหมอก ทำให้สภาป่ามีเมฆและหมอกปกคลุมเกือบตลอดปี
แหล่งท่องเที่ยว
ปัจจุบันราชการทหารได้ตัดถนนขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ทำให้เดินทางไปโดยรถยนต์ได้สะดวก สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริงก็อาจเลือกวิธีเดินเท้า ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมก่อนที่จะมีทางรถยนต์ ทางเดินที่นิยมมักเริ่มต้นจากน้ำตกแม่กลาง คืนแรกพักที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงหรือกลางป่า คืนที่สองพักที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงผาหม่อน คืนที่สามพักที่ปางสมเด็จ แล้วขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ในระหว่างทางจะได้รับความเพลิดเพลินกับบรรยากาศป่าเขา และได้ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงไปด้วย
จุดเด่นของอุทยานแห่งชาตินี้ คือ ยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของประเทศ ซึ่งคนไทยส่วนมากต้องการไปสัมผัสเพื่อประวัติของชีวิต อากาศบนยอดดอยหนาวเย็นประดุจดังอยู่ในเมืองหนาวยามฤดูหนาวจัด มีเมฆหมอกครึ้ม บรรยากาศดังกล่าวไม่อาจหาได้ในส่วนอื่นของประเทศ ต้นไม้ในบริเวณยอดดอยแปลกไปกว่าที่อื่น เพราะมีสภาพป่าประดุจดังป่าโลกล้านปี ตามต้นไม้มีตะไคร่และมอสจับเขียวครึ้ม พันธุ์ไม้ดอก เช่น กุหลาบป่า มีลักษณะคล้ายกับที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง แต่สูงใหญ่กว่ามากจนเรียกกันว่า “กุหลาบพันปี” นอกจากนี้ยังมีลานข้าวตอกฤาษีซึ่งเป็นมอสชนิดหนึ่งขึ้นอยู่หนาแน่นมีสีเขียวสลับส้มกับสีน้ำตาลอ่อนๆ มอสชนิดนี้จะขึ้นได้เฉพาะที่สูง ความชื้นมากและอากาศหนาวเย็นเท่านั้น
ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
- น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี และมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ให้เล่นน้ำหลายแห่ง แต่ในช่วงฤดูฝนกระแสน้ำไหลแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อการเล่นน้ำ น้ำตกแม่กลางอยู่ทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ จากถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ประมาณ กม.ที่ 8 ก่อนถึงด่านตรวจของอุทยานแห่งชาติ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกแม่กลาง สามารถเดินลัดเลาะตามเส้นทางเดินไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากน้ำตกแม่กลางประมาณ 400 เมตร ผ่านเหมืองฝายและภาพเขียนสีผาคันนา
- น้ำตกแม่ยะ อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำห้วยแม่ยะ ไหลลดหลั่นลงมาถึง 30 ชั้น รวมความสูงประมาณ 260 เมตร จนกล่าวกันว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดของประเทศ ในช่วงฤดูฝนสายน้ำตกจะแผ่กว้างถึง 100 เมตร ฤดูแล้งปริมาณน้ำอาจลดน้อยลง แต่สายน้ำตกจะใสสะอาดกว่า น้ำตกแม่ยะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เมื่อเข้าสู่ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ได้ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
- น้ำตกสิริภูมิ เดิมชื่อ น้ำตกเลาลี ตามชื่อของชาวเขา ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกนี้ ต่อมา ม.ร.ว.จักรทอง ทองใหญ่ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขนานนามว่า “สิริภูมิ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนาง-เจ้าพระบรมราชินีนาถ น้ำตกนี้อยู่ที่บ้านขุนกลาง ใกล้ กม.ที่ 31 ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ เป็นน้ำตก 2 สาย ที่ไหลคู่กันลงมาจากหน้าผาสูงซึ่งสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล
- น้ำตกวชิรธาร มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า น้ำตกตาดฆ้องโยง เกิดจากลำห้วยแม่กลาง อยู่ประมาณหลักกม.ที่ 22 ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 70-80 เมตร สายน้ำไหลตกจากหน้าผาลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ในยามที่แสงอาทิตย์ส่องกระทบละอองน้ำจะปรากฏสายรุ้งงดงามขึ้นเหนือธารน้ำ ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า “ผามอแก้ว” หรือภายหลังเรียกว่า ผาแว่นแก้ว
- เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อยู่ตรง กม.ที่ 42 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ใกล้กับพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ เส้นทางนี้จะผ่านสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกัน 2 ลักษณะ คือ ป่าดิบเขากับทุ่งหญ้าบนสันเขา ทางช่วงแรกผ่านเข้าไปในป่าดิบเขาซึ่งมีบรรยากาศร่มครึ้ม มีแสงแดดส่องลงมาเพียงรำไรตามพื้นป่าเต็มไปด้วยเฟินหลากหลายชนิด มีมอสสีเขียวขึ้นคลุมตามโคนต้นไม้และบริเวณริมห้วยที่ชุมชื้น ทางจะเดินขึ้นเขาจนทะลุออกยังทุ่งหญ้าโล่งกว้างของสันกิ่วแม่ปานซึ่งมีแสงแดดจ้าและสายลมแรง ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปจากสภาพที่ผ่านมาทันที ทุ่งหญ้าบริเวณนี้เคยเป็นป่าดิบเขามาก่อน แต่ได้ถูกบุกรุกทำลายไปจนมีสภาพดังเช่นปัจจุบัน จากนี้ทางเดินจะเลียบไปตามสันเขาที่มีดงต้นกุหลาบพันปี รวมทั้งไม้พุ่มขนาดเล็กอย่างช้ามะยมดอยและต่างไก่ป่า ซึ่งเป็นตัวอย่างของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ให้ศึกษา ทางช่วงสุดท้ายจะเข้าสู่ป่าดิบเขาอีกครั้งและไปสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้นของเส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดิน 2-3 ชั่วโมง เส้นทางนี้อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ผู้สนใจต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเดินเที่ยวชมคือ เดือนธันวาคม-มกราคม ส่วนในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เส้นทางนี้ปิดให้บริการเพื่อให้เวลาธรรมชาติฟื้นตัว
- ยอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดเขาสูงสุดของประเทศ อากาศบนยอดดอยหนาวเย็นประดุจดังอยู่ในเมืองหนาว ยามฤดูหนาวหนาวจัด มีเมฆหมอกครึ้ม บรรยากาศดังกล่าวไม่อาจหาได้ในส่วนอื่นของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณ อ่างกาหลวง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นจุดที่สามารถสัมผัสกับธรรมชาติอันชวนหลงไหลของป่าดิบเขาได้ง่ายที่สุด ภายในจัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 300 เมตร โดยใช้สะพานไม้ทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้เหยียบย่ำธรรมชาติอันเปราะบางเสียหาย เส้นทางจะวนกลับมา ณ จุดเริ่มต้น มีป้ายให้ความรู้เรื่องธรรมชาติตลอดเส้นทาง บรรยากาศในอ่างกาหลวงปกคลุมด้วยเมฆที่ลอยพัดผ่านเข้ามาตลอดเวลา อากาศจึงชื้นและเต็มไปด้วยละอองน้ำ ทำให้ต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบเขามีมอสและเฟินขึ้นหุ้มเต็มต้นจนแลดูราวกับป่าในยุคดึกดำบรรพ์ จุดเด่นของเส้นทางนี้ ได้แก่ ต้นกุหลาบพันปีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ กุหลาบพันปีจะบานอวดดอกสีแดงสดดึงดูดให้นกมากินน้ำหวานและช่วยผสมเกสร เช่น นกกินปลีหางยาวเขียว นกกินปลีหางยาวคอสีฟ้าฯลฯ ส่วนตามโคนต้นกุหลาบพันปีมีข้าวตอกฤาษีขึ้นปกคลุมราวกับพรมธรรมชาติ ข้าวตอกฤาษีเป็นมอสชนิดหนึ่งขึ้นอยู่หนาแน่นมีสีเขียวสลับส้มกับสีน้ำตาลอ่อนๆ มอสชนิดนี้จะขึ้นได้เฉพาะที่สูง ความชื้นมาก และอากาศหนาวเย็นเท่านั้น
นอกจากนี้ในอ่างกาหลวงยังมีพรุน้ำจืดที่อยู่สูงที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์เฉพาะถิ่นหายากบางชนิด และเป็นถิ่นอาศัยของนกบนที่สูงจำนวนมากซึ่งสามารถพบเห็นได้ค่อนข้างง่าย เช่น นกศิวะหางสีตาล นกอีแพรดท้องเหลือง นกกะรางหัวแดง นกจับแมลงหน้าผากขาว ฯลฯ ในช่วงฤดูหนาวยังมีนกอพยพย้ายถิ่นนานาชนิดบินมาอาศัย ทำให้ดอยอินทนนท์เป็นแหล่งดูนกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ บริเวณจุดสูงสุดบนยอดดอยอินทนนท์นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้เป็นที่มาของชื่อดอยอินทนนท์แห่งนี้อีกด้วย
- ถ้ำบริจินดา เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานมีหินงอกหินย้อยหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า “นมผา” และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน นอกจากนี้ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุ แสงสว่างลอดเข้ามาได้ ทางเข้าอยู่ทางขวามือห่างจากด่านตรวจไปประมาณ 500 เมตร เข้าไปตามทางอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จนสุดทางที่ริมน้ำแม่หอย จากนั้นต้องเดินข้ามลำน้ำและผ่านป่าไผ่ไปอีก 1 กิโลเมตร จึงถึงถ้ำบริจินดา
- จุดชมทิวทัศน์และพระมหาธาตุเจดีย์ จุดชมทิวทัศน์อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 41 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของขุนเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะยามเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมเหนือหุบเขาน่าชมมาก จากจุดชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริสูงเด่นอยู่คู่กัน สำหรับทางเข้าพระมหาธาตุฯ ทั้งสององค์อยู่ห่างจากจุดชมทิวทัศน์ไปอีกประมาณ 500 เมตร กองทัพอากาศสร้างพระมหาธาตุทั้งสององค์ขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณรอบองค์พระมหาธาตุฯ ประดับตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวสวยงาม
- น้ำตกวังควาย เป็นน้ำตกที่เหมาะในการลงเล่นน้ำในสายน้ำที่เย็นฉ่ำไหลเซาะลดเลี้ยวตามลานหินลดหลั่นเป็นชั้นๆ พื้นน้ำเป็นทรายเม็ดละเอียด อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาดจอมทองเลี้ยวขวาขึ้นไปตามถนนจอมทอง-ดอยอินทนนท์ระยะทางประมาณ 9.7 กิโลเมตร
- น้ำตกสิริธาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงใหม่ประมาณ 81 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ประมาณกิโลเมตร 58 เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ประมาณ 23 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปจุดชมทิวทัศน์น้ำตกสิริธาร ต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร คดเคี้ยวไปตามความลาดชันของภูเขา
- ดอยขุนกลาง บริเวณกิโลเมตรที่ 31 จะปรากฎสภาพภูมิประเทศโดยรอบจะเป็นทุ่งหญ้าคาเนื่องจากป่าถูกถางลงเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา เป็นดอยที่ลดหลั่นประดุจดังคลื่น โดยเฉพาะในฤดูฝนจะเขียวขจีเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามแปลกตาจนน่าบันทึกไว้บนแผ่นฟิล์ม อย่างไรก็ตามบุคคลทั่วไปก็ยังรักที่จะเห็นป่ามากกว่าทุ่งหญ้าคาแบบนั้น
- เส้นทางดูนก กม. 38 อยู่ใกล้กับด่านตรวจอุทยานแห่งชาติ กม. ที่ 37.5 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ นักดูนกมักเรียกเส้นทางนี้ว่า jeep track เนื่องจากเป็นทางเดินราบเรียบสะดวกสบายผ่านไปท่ามกลางป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากป่าดิบเขาบริเวณยอดดอยอินทนนท์ โดยมีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ เช่น พญาไม้มณฑาดอย ฯลฯ สำหรับนกที่พบเห็นได้ง่าย เช่น นกมุ่นรกตาแดง นกขมิ้นแดง นกเปลือกไม้ นกปลีกล้วยลาย นกติ๊ดแก้มเหลือง ฯลฯ รวมทั้งมีนกหายากซึ่งมีรายงานการพบบนเส้นทางนี้ คือ นกปีกแพรสีม่วง และนกปีกแพรสีเขียว
- กลุ่มน้ำตกแม่ปาน ประกอบด้วยน้ำตก 8 แห่ง ได้แก่ น้ำตกแม่ปาน น้ำตกผาสำราญ น้ำตกสองพี่น้อง น้ำตกทีลอกุ้ย น้ำตกธารทอง น้ำตกแท่นพระสังข์ น้ำตกป่าบงเบียง และน้ำตกห้วยทรายเหลือง อยุ่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (กม.31) ไปตามถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ไปยังด่านตรวจที่ 2 (กม.38) แยกซ้ายไปทางอำเภอแม่แจ่มประมาณ 6 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อน.2 (แม่แจ่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาสำราญ (น้ำตกแม่ปาน-ห้วยทรายเหลือง) เป็นแส้นทางวงรอบ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,150 เมตร สามารถเริ่มเดินจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไปตามเส้นทางเข้าน้ำตกแม่ปาน จะพบเห็นน้ำตกได้ทั้ง 8 แห่ง และกลับมายังจุดเริ่มต้นบริเวณหน่วยฯ ชมน้ำตกห้วยทรายเหลือง
- ผาแง่มน้อย ผาแง่มน้อย “แง่ม” เป็นภาษาประจำถิ่นของภาคเหนือ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ง่าม” ในภาษาไทย เป็นคำนามใช้เรียกลักษณะหรือสิ่งที่แยกออกเป็น 2 หรือ 3 ผาแง่มน้อยเป็นหิน 2 แท่ง ตั้งอยู่คู่กันริมเส้นทางเดินชมธรรมชาติกิ่วแม่ปาน หินที่ประกอบขึ้นเป็นผาแง่มน้อยได้แก่หินแกรนิตเนื้อปานกลางยุคไทรแอสซิก มีอายุประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว หินแกรนิตในบริเวณนี้เกิดจากหินหลอมเหลวที่ดันตัวตัดผ่านหินไนส์ ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 530 ล้านปี ยุคพรีแคมเบรียน เมื่อหินหลอมเหลวที่ยังอยู่ใต้ผิวโลกเย็นตัวลง มวลของหินแกรนิตมีการหดตัวและปรากฏรอยแตกบริเวณขอบของมวลหิน เมื่อเวลาผ่านไปเปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นคือ กระบวนการก่อเทือกเขา ทำให้ผิวโลกมีการยกตัวขึ้นเป็นภูเขา ปรากฏการณ์ที่สำคัญต่อมาหลังจากที่หินปรากฏบนผิวโลกคือการผุพังอยู่กับที่ และการกัดกร่อน หินแกรนิตเกิดจากแร่ประกอบหินหลายชนิด เช่น ควอรตซ์ เฟลด์สปาร์ ไบโอไทต์ และมัสโคไวท์ แร่ประกอบหินแต่ละชนิดมีอัตราการผุพังที่ต่างกัน เช่น แร่เฟลด์สปาร์ จะผุพังง่าย และเร็วกว่าแร่ควอรตซ์
- ผาแง่มน้อย เป็นหินแกรนิตเช่นเดียวกับหินที่อยู่ข้างเคียง แต่เนื้อหินของผาแง่มน้อยมีปริมาณแร่ควอรตซ์มากกว่าหินที่อยู่ข้างเคียง และหินข้างเคียงก็มีปริมาณแร่เฟลด์สปาร์ที่มากกว่าหินส่วนที่เป็นหน้าผา ผาแง่มน้อยจึงเป็นผลลัพธ์ของความต่างของอัตราเร็วในการผุพัง โดยส่วนที่เป็นผาแง่มน้อยมีความทนทานต่อการผุพังมากกว่าหินที่อยู่ข้างเคียง นอกจากนี้อาจเกี่ยวข้องกับความถี่ของรอยแตกที่หินข้างเคียงมีมากกว่าหินส่วนที่เป็นผาแง่มนี้ด้วย
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติอื่นๆ อุทยานแห่งชาติได้ตัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ตามแนวเส้นทางถนนสายยอดดอยอินทนนท์-แม่แจ่ม ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว ก่อนใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางจากอุทยานแห่งชาติ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติก่อน
- เส้นทางสายยอดดอย-น้ำตกสิริภูมิ เป็นเส้นทางเดินป่าระยะไกลประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 5 ชั่วโมง เหมาะสำหรับศึกษาความแตกต่างของพรรณไม้ในระดับความสูงที่ถูกทำลาย การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมอาชีพชาวเขา และชมทิวทัศน์ของหุบเขาด้านล่าง
- เส้นทางสายถ้ำบริจินดา เป็นทางระยะสั้น เริ่มต้นที่กิโลเมตรที่ 8.5 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการศึกษาในเรื่องกำเนิดถ้ำ สิ่งมีชีวิตในถ้ำ การเกิดหินงอกหินย้อย สภาพป่าเบญจพรรณผสมกับป่าเต็งรัง
- เส้นทางสายสบหาด-บ้านแม่กลางหลวง ระยะทางประมาณ 900 เมตรใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการศึกษาในเรื่องของสังคมป่าเต็งรังผสมป่าสน คุณประโยชน์ของป่า และชมน้ำตกตาดน้อย
- เส้นทางสายผาแว่นแก้ว-น้ำตกวชิรธาร-บ้านสบหาด ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการศึกษาในเรื่องของสังคมป่าผสมผลัดใบ โดยเฉพาะในเดือนมกราคม ผืนป่าจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม ชมทิวทัศน์ของน้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงบ้านสบหาด การทำการเกษตร และที่ผาแว่นแก้วซึ่งมีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์อายุ 2,000-3,000 ปี
- เส้นทางสายกิโลเมตรที่ 38–น้ำตกสิริภูมิ เริ่มต้นริมถนนกิโลเมตรที่ 38 ตรงข้างทางแยกไปอำเภอแม่แจ่ม เป็นเส้นทางเดินป่าระยะไกลประมาณ 5.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมง เหมาะสำหรับการดูนกที่อาศัยอยู่ในป่าดิบเขาระดับ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล
- เส้นทางสายปางสมเด็จ-ผาหมอน เป็นทางเดินป่าระยะไกลประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 4 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินป่าโดยเฉพาะ และต้องการศึกษาเส้นทางเดินป่าสมัยที่ยังไม่มีถนนตัดขึ้นดอยอินทนนท์
สิ่งอำนวยความสะดวก
- ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
- ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
- ที่พักแรม/บ้านพัก มีบ้านพัก ค่ายพักแรม ให้บริการ
- สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว บริเวณโซนดงสน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 300 - 400 คน นอกจากนี้ยังมีสถานที่กางเต็นท์โซนผาตั้งและโซนห้วยทรายเหลืองเปิดให้บริการด้วย การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
- ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
- บริการอาหาร มีร้านอาหารไว้บริการ
- ร้านขายของที่ระลึก มีของที่ระลึกต่าง ๆ พื้นเมืองสำหรับเป็นของฝากของที่ระลึก
- ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
การเดินทาง
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักในนามของอุทยานฯ ที่มียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย อยู่ในเขตอำเภอจอมทอง สันป่าตอง และแม่แจ่ม มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 530 ตารางกิโลเมตร ระยะทางจากเชียงใหม่ถึงดอยอินทนนท์ ประมาณ 106 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถ เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้ 3 เส้นทางคือ
- เส้นทางที่ 1 จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางโดยใช้เส้นทางถนนสายเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนสายจอมทอง- อินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และ ตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กม. ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 1 (สีเหลือง)
- เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางตามเส้นทางถนนสานเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทองและอำเภอฮอด จากอำเภอฮอดเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง ฮอด (ทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวง แล้วเลี้ยวขวาต่อไปยังอำเภอแม่แจ่มโดยเส้นทางสาย ออบหลวง-แม่แจ่ม (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1088) จากอำเภอแม่แจ่มใช้เส้นทางสายแม่แจ่ม-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1192) ขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ที่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 กิโลเมตรที่ 38-39) ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 2 (สีเขียว)
เส้นทางที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ค่อนข้างจะลำบาก โดยทางจากจังหวัดเชียงใหม่ตามเส้นทางถนนสาย เชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง จากอำเภอสันป่าตอง เลี้ยวขวา ตามถนน สายสันป่าตอง - บ้านกาด-แม่วิน (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1013) แล้วต่อด้วยเส้นทาง ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1284 หรือ เส้นทาง ร.พ.ช. ผ่านบ้านขุนวาง และขึ้นสู่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ที่กิโลเมตรที่ 31 ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 3 (สีน้ำเงิน)
ค่าธรรมเนียม
การเดินทางมาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับทางอุทยานฯ เพื่อที่ทางอุทยานฯ จะได้นำเงินเหล่านี้ไปใช้ในการบริหารจัดการ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและที่พัก เมื่อเสียค่าธรรมเนียมแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถนำบัตรนั้นผ่านด่านอื่นหรือผ่านเข้าไปเที่ยวลงเล่นน้ำตกที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งทางอุทยานฯ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 4 แห่ง คือ น้ำตกแม่ยะ น้ำตกแม่กลาง ด่านเก็บค่าธรรมเนียมที่ 1 และด่านเก็บค่าธรรมเนียมที่ 2
จากอัตราค่าธรรมเนียมข้างต้น หากคุณพาครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยแฟนคุณและลูก 2 คน ทั้งคู่อายุไม่เกิน 14 ปี เมื่อขับรถด่านหรือน้ำตกที่มีการเก็บค่าธรรมเนียม คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม 70 บาท และบัตรนั้น สามารถใช้ได้วันต่อวันส่วนรถบัสขนาดใหญ่ ไม่สามารถขับขึ้นไปบนยอดดอยได้ สามารถจอดรถได้ที่วัดน้ำตกแม่กลาง ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงด่านที่หนึ่งประมาณ 50 เมตร ในช่วงเทศกาลคิดอัตราค่าจอดคันละ 50 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น